บทความ

รู้จักกับ ERP และนโยบายการเก็บเงินค่าเข้าเมืองของสิงคโปร์

การลดจำนวนรถยนต์ และมีรายได้มาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ถือว่าเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของสิงคโปร์

การมีรถเป็นของตัวเองในสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องง่าย และมาพร้อมค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา แต่ถึงอย่างนั้นสิงคโปร์ก็ยังมีรถยนต์ส่วนบุคคลเยอะและมีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่ การเก็บเงินรถเข้าเมืองหรือโซนที่รถติด เป็นหนึ่งในมาตรการที่ทำให้คนใช้รถน้อยลง และรายได้ก็สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้อีกด้วย

ระบบที่ว่านี้มีหน้าตาและใช้งานยังไง และกว่าจะพัฒนามาถึงทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ไปชมกันเลยครับ

ระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ERP คืออะไร

ระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Road Pricing เรียกย่อๆ ว่า ERP เป็นระบบที่ใช้เก็บค่าผ่านทางในเขตเมือง และทางด่วน

ERP ไม่ใช่ด่านเก็บเงินแบบทางด่วนบ้านเรา แต่เป็นป้ายที่อยู่ตามถนน รถไม่ต้องหยุด ไม่ต้องชะลอเพื่อจ่ายค่าผ่านทาง สามารถวิ่งไปตามปกติได้เลย ในป้ายนี้นอกจากจอบอกช่วงเวลาที่เก็บเงินและราคา ด้านหลังยังมีอุปกรณ์ตรวจจับอยู่มากมาย เมื่อรถวิ่งผ่านระบบจะหักเงินจากบัตรเติมเงินที่ติดอยู่หน้ารถทันที

ราคาจะแตกต่างกันในแต่ละวัน เวลา และชนิดรถ หรือบางเวลาก็ไม่เก็บเงินเลยก็มี

รถทุกคันในสิงคโปร์ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์ ต้องติดเครื่อง In-Vehicle Unit หรือ IU สำหรับเสียบบัตรเติมเงิน ซึ่งใช้ได้ทั้งบัตร EZ-Link และ Nets Flashpay (บัตรเดียวกับที่แตะขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้า)

ถ้ารถที่วิ่งผ่านแล้วไม่มีเครื่องนี้ หรือเงินในบัตรไม่พอ ภายใน 3 วันจะมีจดหมายส่งไปถึงบ้านให้ไปจ่ายค่าผ่านทางพร้อมค่าปรับ $10

หน้าตาของเครื่อง IU ที่ติดตั้งในรถยนต์ (ซ้าย) และบนรถมอเตอร์ไซค์ (ขวา)

จุดเริ่มต้นของระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

สิงคโปร์เริ่มเก็บค่าผ่านทางเข้าเมืองมานานแล้วตั้งแต่ปี 2518 ในตอนนั้นสิงคโปร์ยังไม่มีรถไฟฟ้าสักสาย และรถประจำทางก็เข้าขั้นแย่มาก หลังจากเก็บค่าผ่านทางถึง 12 ปี สิงคโปร์ถึงได้เปิดรถไฟฟ้าสายแรก และเริ่มปรับปรุงรถประจำทาง

ตั้งแต่ปี 2518-2541 ระบบเก็บค่าผ่านทางนั้นใช้ชื่อว่า Area Licensing Scheme หรือ ALS วิธีการคือคนขับรถต้องไปซื้อใบอนุญาตเข้าพื้นที่ จะได้ใบอนุญาตมานำไปติดหน้ากระจกรถ แล้วขับเข้าไปในพื้นที่ ALS ใบอนุญาตมีขายทั้งแบบรายวัน รายเดือน หาซื้อได้ที่ไปรษณีย์ ปั้มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อ

ที่ป้าย Restricted Zone จะมีเจ้าหน้าที่จราจรยืนประจำทุกป้าย ในช่วงเวลาที่มีการเก็บค่าผ่านทาง เพื่อจดเลขทะเบียนรถที่ไม่มีใบอนุญาตติดหน้ารถ

พนักงานที่รับหน้าที่จดทะเบียนรถยนต์ที่ไม่มีใบอนุญาต (ซ้าย) ใบอนุญาตเข้าพื้นที่ (ขวา)

อัปเกรดเป็น ERP

เนื่องจากระบบเดิมนั้นมีต้นทุนสูง เพราะใช้คนจำนวนมาก ทั้งคนขายใบอนุญาต และตำรวจที่ยืนตรวจตามป้าย เมื่อมีคนมากก็มีโอกาสผิดพลาดมาก ปี 2541 สิงคโปร์จึงได้เปลี่ยนมาใช้ระบบ Electronic Road Pricing หรือ ERP ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ที่บริเวณป้าย ERP เพื่อเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ไม่ต้องลงไปซื้อใบอนุญาต ไม่ต้องให้ตำรวจมายืนตามป้ายอีก

ปัจจุบันสิงคโปร์มีป้าย ERP ประมาณ 93 ป้าย อยู่ในทางด่วน ถนนก่อนเข้าเมืองชั้นใน และในย่าน CBD

ERP ในอนาคต

ในอนาคตสิงคโปร์มีแผนจะอัปเกรดระบบ ERP แบบเป็นแบบใหม่ ใช้ดาวเทียม GPS ในการระบุตำแหน่งรถ เก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง ไม่ต้องมีเซ็นเซอร์ใหญ่ๆ แบบป้าย ERP เดิมอยู่ตามถนน รวมถึงจะมีจอที่บอกข้อมูลการจราจรติดตั้งในรถเพื่อ update สภาพการจราจรหรือแสดงค่าผ่านทางต่างๆ ด้วยครับ

ระบบนี้กำลังดำเนินการโดยกลุ่มบริษัท NCS และ Mitsubishi Heavy Industries Engine System Asia (MHI) เป็นผู้ชนะการประมูลด้วยการเสนอราคาประมาณ 13,584 ล้านบาท จะเริ่มใช้งานได้ในปี 2563

การลดจำนวนรถยนต์ และมีรายได้มาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ถือว่าเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของสิงคโปร์

ภาพจาก

straitstimes
blogs.ubc.ca/
thelongnwindingroad.wordpress.com

คอมเมนต์