เป็นที่รู้กันว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั่นรวมความสุดหลายๆ อย่าง ทั้งสถานีสนามไชย หรืออุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย หรือถ้าจะนับย้อนไปถึงสายสีน้ำเงินเฟสแรก ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 ก็มีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่น่าสนใจ ตามที่ผมได้เขียน บทความเรื่องนี้ ไปเมื่อปีก่อนครับ
ปกติแล้วทางวิ่งรถไฟฟ้าที่เราเห็นกันตอนนี้จะเป็นคานกล่องคอนกรีตต่อๆ กัน หรือถ้าช่วงข้ามแยกกว้างๆ จะใช้วิธีที่เรียกว่า คานยื่นสมดุล หรือ balanced cantilever
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สถานีสิรินธร ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ ใกล้แยกบางพลัดที่ตัดกับถนนสิรินธร
ลักษณะทางกายภาพของแยกนี้มีอุโมงค์ทางลอดในแนวถนนจรัญสนิทวงศ์ และมีสะพานข้ามแยกในแนวถนนสิรินธร
ทำให้โครงสร้างสถานีและทางวิ่งในช่วงอุโมงค์ ต้องเป็นแบบเสาคร่อมถนน
ส่วนช่วงข้ามแยกบางพลัดนั่นมีความกว้างมากถึง 60 เมตร ไม่สามารถใช้การวางคานทางวิ่งแบบปกติ หรือแบบ balanced cantilever ได้เพราะระยะห่างกว้างเกิน และคานกล่องทางวิ่งจะมีความหนาประมาณ 2 เมตร ก็คือมีท้องของกล่องที่ลึกลงมา ถ้าใช้คานกล่องแบบปกติจะทำให้ความสูงของสะพานข้ามแยกกับท้องคานต่ำกว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงเสาทางวิ่งทั้งสองฝั่งเป็นเสาแบบคร่อมถนนเนื่องจากมีอุโมงค์อยู่ด้านล่างด้วย
ทางโครงการจึงได้ออกแบบเป็น สะพานโครงเหล็กโค้ง แบบที่เรียกว่า Bowstring ลักษณะคล้ายๆ สะพานคนเดินตรงแยกช่องนนทรีแต่ว่าใหญ่กว่าครับ
นี่จึงเป็นสะพานทางวิ่งรถไฟฟ้าแบบโครงเหล็ก แห่งแรกของประเทศไทย Landmark ใหม่ของฝั่งธน
สะพานนี้จะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ครับ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
อดทนรออีกนิดอีกไม่นานก็จะได้เห็นสะพานนี้ อีกไม่นานก็จะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนขยายแล้วครับ
ชมภาพอื่นๆ ทั้งหมดได้ที่อัลบั้ม Facebook ด้านล่างครับ หากชอบผลงานของเราก็เป็นกำลังใจให้โดยการกด like และแชร์กันด้วยนะครับ 🙂