บทความ ภาพจากเจ้าของโครงการ

“สะพานด้วน” กึ่งกลางสะพานพระปกเกล้า กับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หลังจากที่มีข่าวอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายฝั่งใต้กันไปแล้ว หลายคนคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงสร้างตรงกลางของสะพานพระปกเกล้าที่สร้างไว้ในโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ว่าจะนำมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ด้วยหรือไม่

“โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน” คืออะไร ?

โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน (Lavalin Skytrain) เป็นโครงการรถไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเริ่มต้นในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เริ่มศึกษาโครงการมาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น และได้ผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) ในปี 2533

แต่สุดท้ายโครงการก็ถูกยกเลิกไปในปี 2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน และการประเมินค่าใช้จ่ายผิดพลาด มีเพียงโครงสร้างทางวิ่งที่สร้างไว้พร้อมกับสะพานพระปกเกล้าในปี 2527 ที่ได้เริ่มสร้างไปก่อนแล้ว แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้งาน และโครงสร้างทางวิ่งนี้ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี

สะพานพระปกเกล้าช่วงปี 2527

โครงสร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินจะนำมาใช้ในโครงการสายสีม่วงหรือไม่?

เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น มีภายหลังจากมติ ครม. 17 พฤษภาคม 2537 ที่ระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในพื้นที่อนุรักษ์ 25 ตารางกิโลเมตร จะต้องเป็นเส้นทางใต้ดิน เพราะฉะนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงสถานีสามเสน – วงเวียนใหญ่ จึงต้องเป็นโครงสร้างใต้ดิน ทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่สามารถใช้โครงสร้างเดิมของรถไฟฟ้าลาวาลินได้

แล้วโครงสร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินนี้จะทำอย่างไรต่อ?

เมื่อปีที่แล้ว (2559) ทางกรุงเทพมหานคร และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้จัดทำแผนแม่บทโครงการ “กรุงเทพ 250” ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงเทพฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ย่านเมืองเก่า 17 เขตให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ เป็นมหานครระดับโลก ในวาระครบ 250 ปี กรุงเทพมหานคร ในปี 2575 โดยมี “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระปกเกล้า” อยู่ในพื้นที่นำร่องของโครงการย่านกะดีจีน-คลองสาน

ในโครงการ กรุงเทพ 250 นั้นจะนำโครงสร้างของรถไฟฟ้าลาวาลินมาปรับปรุงให้เป็นทางเดิน – ทางจักรยานระยะทาง 280 เมตร เชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีโดยผสานทางเดินนี้ไปกับสีเขียวของต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่นตลอดทางเดิน

 

 

 

นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร ยังมีแผนที่จะปรับปรุงสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งพระนคร โดยร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบทและบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และจะทำให้สวนสาธารณะนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาคลองโอ่งอ่างอีกด้วย

 

และล่าสุด ทางกรุงเทพมหานคร ได้วางกรอบการลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาท และเร่งประกาศ TOR หาเอกชนเข้าปรับปรุงโครงการภายในปลายปี 2560 เพื่อให้พร้อมเปิดใช้งานในปี 2561

 

ที่มา : Bangkok 250The Standard

คอมเมนต์