บทความ

มาทำความรู้จักกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูกัน!!

เชื่อว่าช่วงนี้ หลายๆ คนน่าจะได้เห็นข่าวรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ทยอยกันอนุมัติ/ก่อสร้างกันหลายสายเลยทีเดียว ซึ่งบางสายก็ก่อสร้างจนใกล้จะได้เปิดให้บริการในอีกปีสองปีข้างหน้านี้แล้ว ส่วนบางสายก็เพิ่งมีการอนุมัติการก่อสร้างในปีที่ผ่านมา สำหรับ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ก็เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งที่เพิ่งจะได้รับอนุมัติในปีที่ผ่านมา แต่ก่อนที่เราจะมารู้จักกับ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู ทีมงานอยากจะพูดถึงภาพรวมของรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ กันก่อนครับ ^^

ภาพรวมรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเรามีรถไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อปี 2542 นั่นก็คือ  รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือที่เราๆ เรียกกันว่า “รถไฟฟ้า BTS” โดยรถไฟฟ้า BTS เอง ก็แบ่งออกเป็นอีก 2 สายคือ

  1.  สายสุขุมวิท หรือ สายสีเขียวอ่อน ในตอนแรกเปิดให้บริการตั้งแต่ “สถานีหมอชิต” ถึง “สถานีอ่อนนุช”
  2.  สายสีลม หรือ สายสีเขียวเข้ม ในตอนแรกเปิดให้บริการตั้งแต่ “สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ” ถึง “สถานีสะพานตากสิน”

ลักษณะเส้นทางของทั้ง 2 สายสายคือจะเป็นเส้นทางที่วิ่งจากนอกเมืองตัดเข้าไปในเมืองครับ

จากนั้นบ้านเราก็มี รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน หรือบางคนก็เรียกว่า “รถไฟฟ้าใต้ดิน” (แต่ปัจจุบันสายนี้มีส่วนต่อขยายที่ขึ้นมาบนดินแล้วนะ) เปิดให้บริการในปี 2547 เริ่มต้นเส้นทางจาก “สถานีหัวลำโพง” ถึง “สถานีบางซื่อ” สังเกตว่าสายนี้ลักษณะเส้นทางจะเกือบเป็นวงกลม วิ่งไปบริเวณจุดสำคัญๆ ในเมือง เช่น สีลม, อโศก พระราม 9, รัชดา แทบไม่ได้ไปในส่วนเมืองรอบนอกเลย

หลังจากนั้นอีกซักพักใหญ่บ้านเราก็มีรถไฟฟ้าอีกสาย คือ  รถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ Airport Rail Link เปิดให้บริการในปี 2553 ลักษณะเส้นทางก็ตามชื่อเลย คือเชื่อมต่อสนามบินเข้ากับในเมืองทั้ง BTS และ MRT โดยมีเส้นทางจาก “สถานีสุวรรณภูมิ” ถึง “สถานีพญาไท”

จนล่าสุดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา (2559-2560) ก็ได้มี  รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เพิ่มขึ้นมาอีกสาย เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีเตาปูน วิ่งออกนอกเมืองไปทางรัตนาธิเบศร์ไปสุดที่ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกที่สถานีคลองบางไผ่

และเมื่อรวมกับส่วนต่อขยายต่างๆ ที่ทยอยเปิดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น สะพานตากสิน-บางหว้า, อ่อนนุช-สำโรง, บางซื่อ-เตาปูน ปัจจุบัน ระบบรถไฟฟ้าในบ้านเราจะมีหน้าตาอย่างในรูปนี้ครับ

แต่ก็จะเห็นว่าจากรถไฟฟ้าที่เปิดใช้ในอยู่ในปัจจุบัน พื้นที่บางส่วนของกรุงเทพจะยังเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ค่อยสะดวกซักเท่าไหร่

ดังนั้นรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ และส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายเดิมที่ทยอยอนุมัติหรือกำลังก่อสร้างอยู่ ก็จะมาช่วยเพิ่มความครอบคลุมของรถไฟฟ้าในบริเวณที่ถัดออกมาจากในเมืองมากยิ่งขึ้นโดยจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบครับ ในภาพนี้คือผังรถไฟฟ้าที่เราจะได้ใช้งานกันในปี 2563-2564

 

ทีนี้เราลองมาทำความรู้จักกับสายสีชมพูกันบ้าง

จากผังในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บ้านเราจะมีรถไฟฟ้ามาให้ใช้เพิ่มขึ้นอีกเยอะทีเดียว แต่ว่าแต่ละสายก็จะเริ่มมีรูปแบบ และหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปแล้ว อย่างเช่น  รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่เน้นวิ่งออกไปชานเมืองโดยเฉพาะ ก็จะมีสถานีน้อยหน่อย เน้นขนคนเข้าออกเมืองได้อย่างรวดเร็ว

หรืออย่าง  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่เราพูดถึงในบทความนี้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยจะมีรถไฟฟ้าในรูปแบบรถ Feeder สำหรับพาคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก

อะไรคือ “Feeder” ???

จากปกติที่เราจะเห็นรถไฟฟ้าส่วนใหญ่วิ่งจากนอกเมืองเข้ามาในเมือง แต่เส้นทางของ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู นั้น จะวิ่งจาก ติวานนท์ > แจ้งวัฒนา > รามอินทรา > ไปสุดที่มีนบุรี จะเห็นได้ว่าสายนี้จะไม่ได้แตะเข้ามาในบริเวณกรุงเทพชั้นในเลย เพราะสายนี้เป็น Feeder หรือรถไฟฟ้าที่เน้นในการพาคนจากจุดต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายที่วิ่งเข้าเมืองโดยตรง ซึ่ง  รถไฟฟ้าสายสีชมพู เองก็เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลายสายมาก ได้แก่

  1. เชื่อมต่อกับ  รถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (ใกล้กับแยกแคราย)
  2. เชื่อมต่อกับ  รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ สถานีหลักสี่ (ถนนวิภาวดีรังสิต)
  3. เชื่อมต่อกับ  รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ที่ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (บริเวณวงเวียนหลักสี่)
  4. เชื่อมต่อกับ  รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ สถานีมีนบุรี (ใกล้กับแยกรามคำแหง-ร่มเกล้า)

และในอนาคต จะมี  รถไฟฟ้าสายสีเทา ที่วิ่งจากรามอินทรามาเชื่อมกับ  รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ที่ สถานีทองหล่อ ซึ่งจะมาเชื่อมต่ออีกสายที่ บริเวณแยกรามอินทรา-วัชรพล อีกด้วยครับ

ถือว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็นรถไฟฟ้าที่มี interchange ตัดกับสายอื่นค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู

  1. รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับทั้งหมด ถ้าใครนึกไม่ออกว่ายาวแค่ไหนลองเทียบกับว่า  BTS สายสุขุมวิท จากหมอชิต-สำโรง รวมกับ  BTS สายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ก็มีระยะทาง 36.45 กิโลเมตรแล้ว สายสีชมพูนี้จึงถือว่าเป็นรถไฟฟ้าที่ยาวมากสายนึงเลยทีเดียว
  2. มีสถานีทั้งหมด 30 สถานี เฉลี่ยแต่ละสถานีห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตรนิดๆ
  3. ศูนย์ซ่อมบำรุง ของ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู จะอยู่บริเวณมีนบุรี-ร่มเกล้า มีอาคารจอดแล้วจรสามารถจอดรถได้ 3,000 คัน
  4. รถไฟฟ้าสายนี้เป็นการมอบสัมปทานให้เอกชนมาลงทุนทั้งโครงการตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการเดินรถ โดยในสัญญาจะแบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาสัมปทานเดินรถอีก 30 ปี
  5. บริษัทที่มารับสัมปทานได้แก่ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าระหว่างบีทีเอส, ซิโน-ไทย และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ
  6. รูปแบบของรถไฟฟ้าจะเป็นแบบรางเดี่ยว หรือที่เรียกว่าโมโนเรล

โมโนเรลคืออะไร??

โมโนเรลคือระบบรถไฟที่ตัวรถวิ่งคร่อมหรือแขวนอยู่บนรางอันใหญ่รางเดียว โมโนเรลในระบบขนส่งมวลชนส่วนมากจะเป็นรถไฟล้อยางวิ่งอยู่บน ราง(คาน)คอนกรีต ต่างจาก BTS และ MRT ที่เราๆ คุ้นเคยกันที่เป็นรถขนาดใหญ่กว่า (Heavy Rail) วิ่งบนรางเหล็กแบบคู่

หลายคนอาจจะกังวลว่ารถโมโนเรลจะจุคนพอไหม วิ่งไหวหรือเปล่า จะก๊องแก๊งมั้ย เราอาจจะให้ลืมภาพรถโมโนเรลแบบเดิมๆ หรือที่เคยเจอมาในสวนสนุกออกไปก่อนครับ

เพราะว่ารถโมโนเรลของ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นรถจาก Bombardier รุ่น Innovia 300 หน้าตาทันสมัยและความจุก็ไม่ได้น้อยอย่างที่คิด เราลองมาดูเหตุผลที่รถไฟฟ้าสายนี้เหมาะกับการใช้โมโนเรลดูครับ

  1. รถไฟฟ้าสายสีชมพูเป็น Feeder เชื่อมต่อหลายสาย ดังนั้นลักษณะการใช้งานจะไม่ได้เป็นการพร้อมใจกันไปในทางเดียวกันเหมือนกับรถที่เข้าเมือง แต่ในการใช้งานคนจะกระจายกันไปเข้ารถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ตัดกับสายสีชมพู
  2. โมโนเรลที่จะใช้กับสายสีชมพู มีความจุรองรับได้ประมาณ 1,000 คนต่อขบวน (6 ตู้) ซึ่งเพียงพอกับปริมาณผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้ และสามารถเพิ่มเป็น 8 ตู้ได้ในภายหลัง เทียบกับ Heavy Rail อย่าง  สายสีม่วง และ สายสีน้ำเงิน ที่รถขนาด 3 ตู้ ก็จะจุคนได้ 1,000 คนต่อขบวนเช่นกัน
  3. ความเร็วสูงสุดทำได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชม. พอๆ กันกับรถไฟฟ้า BTS และ MRT
  4. ค่าก่อสร้างถูกกว่า นั่นหมายความว่าด้วยเงินที่เท่ากัน ถ้าเลือกโมโนเรลก็สามารถสร้างได้ไกลมากขึ้น ทำให้คนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น
  5. ก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากโครงสร้างของโมโนเรลมีขนาดเล็กกว่า Heavy Rail ทำให้สามารถก่อสร้างได้เร็ว โดยในสัญญาก่อสร้างให้เวลาไว้เพียง 3 ปี 3 เดือนเท่านั้น (ต้องรอดูของจริงว่าจะเร็วจริงไหม แต่สายนี้เอกชนสร้างเองนะ สร้างเสร็จเร็วก็เก็บเงินได้เร็ว คืนทุนเร็ว)

สถานที่สำคัญที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูผ่าน

สำหรับสถานที่สำคัญๆ ที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูจะวิ่งผ่าน ทีมงานเคยทำสรุปเอาไว้แล้วครับ สามารถดูได้จากในบทความ “ทำความรู้จักแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู”

เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี??

เดิมแผนเส้นทางของสายนี้ตอนเปิดประมูลสัมปทานจะวิ่งตั้งแต่แคราย – มีนบุรี ไม่มีเข้าไปทางเมืองทอง แต่กลุ่มบีทีเอส, ซิโน-ไทย และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ (BSR) ได้ยื่นข้อเสนอว่านอกจากจะสร้างตามแผนแล้ว จะสร้างสายแยกที่เชื่อมต่อระหว่าง “สถานีศรีรัช” บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ เข้าสู่ในบริเวณ เมืองทองธานี โดยจะมี 2 สถานีเพิ่มเติมได้แก่ “สถานีอิมแพคชาเลนเจอร์” และ “สถานีทะเลสาป”

เนื่องจากส่วนต่อขยายนี้เป็นส่วนที่เสนอเพิ่มมาทีหลัง และ ยังไม่ผ่าน EIA หลังจากนั้นต้องผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการ มาตรา 35 ตาม พรบ.ร่วมทุนอีก เพราะว่าทั้งสองสายเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชนและในขั้นสุดท้ายก็จะส่งให้ ครม.อนุมัติโครงการ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างและเปิดให้บริการได้ คาดว่าจะเปิดให้บริการหลังจากที่สายสีชมพูเส้นหลักเปิดครับ

 

ความคืบหน้าล่าสุด

ล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้ว โดยเริ่มมีการปิดถนนบริเวณต่างๆ ย้ายสาธารณูปโภคและเริ่มทดสอบเสาเข็มครับ (มกราคม 2560)

หลังจากสายสีชมพูสร้างเสร็จ การเดินทางจะสะดวกขึ้นอย่างไร

แถบติวานนท์

สำหรับด้านถนนติวานนท์ หลังจากที่  รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดจะสามารถเข้าสู่เมืองได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วยการขึ้น  รถไฟฟ้าสายสีชมพู ไปต่อ  สายสีม่วง ที่ “สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี” ซึ่งอยู่บริเวณแยกแคราย และสามารถไป สายสีน้ำเงิน ที่สถานีเตาปูนได้

นอกจากนี้ในอนาคต (อันไกล) ถ้าหากแผนยังไม่เปลี่ยน ก็จะมี  รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มาเริ่มต้นที่ “สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี” ด้วยเช่นเดียวกัน โดยสายนี้จะวิ่งไปทาง ถนนงามวงศ์วาน > ผ่านม.เกษตรศาสตร์ > เกษตร-นวมินทร์ > นวมินทร์ > สุดสายที่แยกลำสาลี ซึ่งถ้าสายนี้สร้างเสร็จด้วยก็จะช่วยให้ไปเดอะมอลล์งามวงศ์วานหรือม.เกษตรสะดวกขึ้น เป็นทางเลี่ยงรถติดด้านล่างที่ดีทีเดียว

ทำให้แยกแครายก็จะเป็นอีกหนึ่ง interchange ขนาดใหญ่ของรถไฟฟ้าในย่านนี้ครับ

แถบแจ้งวัฒนะ-รามอินทราตอนบน

สำหรับโซนแจ้งวัฒนะต้องบอกว่าเป็นโซนที่มีความเจริญอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ทั้งห้าง, ศูนย์ราชการ, ตึกออฟฟิศทั้งหลาย, เมืองทองธานี สิ่งที่ตามมาในย่านนี้แน่นอนคือรถติดครับ

ดังนั้นเมื่อ  รถไฟฟ้าสายสีชมพู สร้างเสร็จ การเดินทางไปมาในโซนนี้ก็จะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องใช้แต่ถนนอย่างเดียวเหมือนปัจจุบัน และในแถบนี้ยังใกล้กับรถไฟฟ้า 2 สายคือ  รถไฟฟ้าสายสีเขียว กับ  รถไฟฟ้าสายสีแดง 

สำหรับ  สายสีเขียวส่วนต่อขยาย เมื่อเปิดใช้บริการจะสะดวกสำหรับการไปย่านรัชโยธิน ลาดพร้าว หรือจะนั่งต่อไปถึงสยามก็เปลี่ยนรถแค่ครั้งเดียว

ส่วน  สายสีแดง เนื่องจากเป็นสายชานเมืองจำนวนสถานีจึงจะถี่น้อยกว่ารถไฟฟ้า metro (BTS/MRT) ในเมืองแบบปกติ ข้อดีก็คือถ้าเราขึ้นจากสถานีหลักสี่ที่เชื่อมกับ  สายสีชมพู เพียง 5 สถานีก็ถึงสถานีกลางบางซื่อแล้ว ใช้เวลาค่อนข้างจะรวดเร็ว และสามารถเปลี่ยนไปใช้ สายสีน้ำเงิน ได้ที่สถานีนี้

และในอนาคต  สายสีแดง ก็ยังมีโครงการที่จะเชื่อมต่อไปถึงสถานีมักกะสัน ก็จะกลายเป็นว่าขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงประมาณ 8 สถานีก็สามารถถึงมักกะสัน ที่เชื่อมต่อกับ สายสีน้ำเงิน โซนอโศก/พระราม 9 ได้เลย ก็ค่อนข้างเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของแถบนี้ได้ดีทีเดียวครับ จากเดิมที่ต้องเจอรถติดทางด่วนประชาชื่นหรือรถติดที่ถนนวิภาวดีในการเข้าออกเมือง

รวมถึงถ้าหากส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองสร้างเสร็จ ก็น่าจะแบ่งเบาภาระจำนวนรถที่มางาน event ใหญ่ๆ ในแต่ละครั้งได้

(แต่ต้องบอกก่อนว่า  รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะเชื่อมต่อไปยังมักกะสันอยู่ในแผน ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้วแต่ยังรอรฟท.เปิดประมูล ส่วนสายสีแดงที่จะไปถึงสถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการในปี 2563 นี้ครับ ใกล้ๆ กับช่วง  รถไฟฟ้าสายสีชมพู สร้างเสร็จพอดี)

แถบรามอินทราตอนกลาง-มีนบุรี

สำหรับโซนนี้ การเข้าเมืองจะสามารถมาใช้  สายสีเขียว และ  สายสีแดง ได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ทางมีนอาจจะต้องนั่งมายาวนิดนึง

แต่ในปี 2566  รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเปิดให้บริการ ก็จะเพิ่มความสะดวกให้กับคนที่อยู่ในแถบมีนบุรีเข้าเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้นครับ ซึ่ง  สายสีส้ม ก็เป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่เข้าไปในเมืองผ่านจุดสำคัญๆ หลายแห่งเช่นรามคำแหง, พระราม 9, รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสถานีศูนย์วัฒนธรรม, ดินแดง, ราชเทวี เป็นต้น

โดยบริเวณที่  สายสีชมพู เชื่อมต่อกับ █ สายสีส้ม จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ด้วย ซึ่งในบริเวณนั้นก็จะมีอาคารจอดรถให้บริการด้วยอีก 1 อาคาร

นอกจากนี้ในอนาคตยังมีแผน  รถไฟฟ้าสายสีเทา ที่จะวิ่งจาก  BTS สถานีทองหล่อ มาถึงวัชรพล ผ่านทางถนนประดิษฐ์มนูธรรม (เลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา) ก็จะเป็นอีกเส้นทางที่ช่วยตัดตรงเข้าเมืองสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงรามอินทราตอนกลาง เป็นทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น จากปกติที่เลียบด่วนหลังเลิกงานจะรถติดตลอด (สำหรับสายสีเทาส่วนเหนือนี้อยู่ระหว่างการศึกษา EIA ต้องรอติดตามกันต่อไปครับว่าจะได้ก่อสร้างเมื่อใด แต่รูปแบบโครงการจะเป็น Monorail เช่นเดียวกัน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่นานมากนัก)

และนี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆ ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูนะครับ คราวหน้าเราจะมีอะไรมาฝากอย่าลืมติดตามที่เพจ Render Thailand นะคร้าบบ

เรื่องและภาพ : ทีมงาน Render Thailand

บทความนี้สนับสนุนโดย

NUE NOBLE CHAENGWATTANA

สำหรับคอนโดมิเนียมโครการ NUE NOBLE CHAENGWATTANA เป็นโครงการคอนโดมิเนี่ยม high rise ใหม่ล่าสุดจากทาง Noble ครับ จุดเด่นของโครงการนี้คือทำเลครับ ด้วยตัวที่ตั้งของโครงการเองจะอยู่ห่างจาก  สายสีชมพู สถานีศรีรัชเพียง 20 ก้าว โดยสถานีนี้จะเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับกับสายสีชมพูที่เข้าไปในเมืองทองในอนาคตด้วยครับ

ในแถบแจ้งวัฒนะเองก็เป็นย่านที่มีความเจริญด้วยตัวเองอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นห้าง, อิมแพ็ค, ออฟฟิศต่างๆ และศูนย์ราชการ บริเวณข้างตัวโครงการจะติดกับห้าง Makro เลย สามารถเดินมาหาของกินได้ หรือถ้าถัดออกไปก็จะมีทั้ง ดิ เอเวนิว,เทสโก้โลตัส, Big C, Central แจ้งวัฒนะ อยู่ในระยะ 1-2 สถานีรถไฟฟ้า หรือจะเข้าไปหาของกินในซอยเมืองทองในซอยนี้ก็มีของกินค่อนข้างเยอะครับ

ราคาเริ่มต้นของที่นี่อยู่ที่ 1.65 ล้านบาท ขนาดห้องเริ่มต้นที่ 28 ตารางเมตร หารออกมาแล้ว ตกตารางเมตรละไม่ถึง 60,000 บาท!! ต้องรอดูราคาเฉลี่ยทั้งโครงการอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าราคาไม่หนีกันมากก็น่าจะเป็นตัวเลือกนึงที่น่าสนใจตัวนึงเลย เทียบกับทำเลติดถนนใหญ่ ติดห้าง ติดรถไฟฟ้าครับ

พื้นที่โครงการ : 3-3-38 ไร่

ลักษณะโครงการ : 31 ชั้น 813 ยูนิต

ประเภทห้อง :

  • 1 ห้องนอน 28 : 28 – 28.5 ตร.ม.
  • 1 ห้องนอน 30 : 30 – 31 ตร.ม.
  • 2 ห้องนอน : 45 – 46.5 ตร.ม.
  • 2 ห้องนอน พลัส : 57 ตร.ม.

สิ่งอำนวยความสะดวก :

  • ลิฟท์โดยสาร 4 ตัว / ลิฟท์บริการ 1 ตัว
  • พื้นที่สีเขียวในโครงการกว่า 5,795 ตร.ม.
  • สวนส่วนกลางที่ชั้น G, 4, 31 และชั้นดาดฟ้า
  • สระว่ายน้ำยาวกว่า 30 เมตร
    พร้อมอ่างจากุซซี่และสระเด็ก ที่ชั้น 4
  • ห้องออกกำลังกายและห้องหนังสือ ที่ชั้น 4
  • ห้องจดหมาย ที่ชั้น G
  • ห้องนิติบุคคล
  • พื้นที่จอดรถ 50%
ระบบรักษาความปลอดภัย :
  • กล้องวงจรปิด CCTV 24 ชั่วโมง
  • ระบบ Access Control ด้วย Key Card
    เข้า-ออกอาคารและพื้นที่จอดรถ
  • เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง

สำหรับพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ส่วนกลางถึงแม้ว่าราคาที่นี่จะไม่ได้สูงมาก แต่ส่วนกลางค่อนข้างดูดีทีเดียวครับ มีล็อบบี้ชั้นล่างขนาดใหญ่, ฟิตเนสและห้องอ่านหนังสือที่ชั้น 4, สระความยาว 30 เมตรที่ชั้น 4 เช่นกัน

ดังนั้นใครที่ทำงานอยู่แถวนี้ หรือกำลังหาคอนโดซักที่ในราคาที่มนุษย์เงินเดือนจ่ายไหวแต่ก็ยังเป็นทำเลที่ยังพอเข้าเมืองได้สะดวกรอบข้างมีความเจริญ NUE NOBLE ก็น่าจะเป็นตัวเลือกอีกตัวที่น่าสนใจครับ

สำหรับใครที่สนใจโครงการ NUE NOBLE CHAENGWATTANA
ชมห้องตัวอย่างได้แล้ววันนี้ และจะเปิดจองวันที่ 25 มีนาคมนี้

ลงทะเบียนรับส่วนลดออนไลน์ 20,000 บาท* ผ่อนเพียง 5,000 บาท / เดือน* ที่ https://goo.gl/8B7QsK

 

คอมเมนต์