ข่าวสาร

แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่

ตอนนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกแบบเส้นทางในแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยเกิดจากความร่วมมือของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลยประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่

รายละเอียดหลักๆ ของแผนแม่บทนี้จะเป็นรถราง หรือ Tram ทั้งหมด 3 สาย โดยมีสองทางเลือกคือเป็นใต้ดินช่วงในเมืองและระดับดินช่วงนอกเมือง และอีกทางเลือกคือเป็นระดับดินตลอดเส้นทาง โดยมีรายละเอียดของแต่ละทางเลือกดังนี้

ทางเลือก A

สายสีแดง

ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่และสนามกีฬา 700 ปี ต่อไปยังศูนย์ประชุมเชียงใหม่ และเริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดินที่บริเวณแยกข่วงสิง มุ่งสู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และต่อไปยังสนามบินเชียงใหม่ เมื่อพ้นเขตสนามบินเชียงใหม่กลับขึ้นใช้ทางวิ่งบนดินก่อนจะไปสิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)

สายสีเขียว

ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร เริ่มต้นจากแยกรวมโชค เข้าสู่เส้นทางวิ่งใต้ดินที่จุดแยกแม่โจ้ (แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา) ผ่านตลาดวโรรส เชียงใหม่ไนท์บาร์ซาร์ ห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ตก่อนจะไปสิ้นสุดที่สนามบินเชียงใหม่

สายสีน้ำเงิน

ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นเส้นทางวิ่งใต้ดินจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลี้ยวลงมาตามถนนเส้นคันคลองชลประทาน ถึงบริเวณแยกตลาดต้นพยอม มุ่งหน้าไปทางโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตัดกับสายสีแดง ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผ่านใต้คูเมือง ไปถึงจุดตัดกับสายสีเขียว บริเวณเชียงใหม่ไนท์บาร์ซ่า วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ไปจนถึงจุดกลับขึ้นใช้เส้นทางบนดิน ที่แยกหนองประทีป วิ่งตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก่อนจะไปสิ้นสุดที่แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา)

ทางเลือก B


สายสีแดง

ระยะทางประมาณ 15.65 กิโลเมตรเริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700ปี ต่อไปยังศูนย์ประชุมเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ตัดกับสายสีน้ำเงินที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ก่อนที่จะต่อไปยังสนามบินนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ไปสิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)

สายสีเขียว

ระยะทางประมาณ 11.11 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสี่แยกรวมโชค ผ่านแยกแม่โจ้(แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา) ไปยังห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล ก่อนจะต่อไปยังสถานีขนส่งอาเขต ผ่านกาดหลวงเชียงใหม่ไนท์บาร์ซ่า ไปสู่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแอร์พอร์ต ไปสิ้นสุดที่สนามบินเชียงใหม่

สายสีน้ำเงิน

ระยะทางประมาณ 13.81 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไปยังจุดตัดระหว่างสายสีแดงที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เลียบผ่านคูเมืองทางด้านทิศใต้ ไปยังสถานีรถไฟเชียงใหม่ผ่านบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ไปสิ้นสุดที่แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา)

ทั้งสองรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียที่ต้องพิจารณากันอยู่ครับ ทั้งช่องจราจร ความเร็วในการให้บริการ งบประมาณ
เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอ สนข. และครม. เป็นลำดับต่อไปครับ

ภาพตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างระบบทางวิ่งใต้ดินและทางวิ่งบนดิน

สภาพการจราจรจากมุมสูง ช่วงประตูท่าแพ

สภาพการจราจรจากมุมสูง ช่วงแยกไนท์บาซาร์

สภาพการจราจรจากมุมสูง ช่วงแยกไนท์บาซาร์

สภาพการจราจรจากมุมมองคนเดินเท้า ช่วงแยกไนท์บาซาร์

รูปแบบสถานีและทางเข้าออก บริเวณประตูท่าแพ

 

โดยทั้งสองโครงข่ายจะมี โครงข่ายรอง – โครงข่ายเสริม ที่คอยเชื่อมให้คนที่อยู่นอกเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะหลัก โดยจะใช้ระบบรถเมล์เป็นหลักดังนี้

  1. สายสีชมพู   เริ่มจากอำเภอแม่ริม เข้ามาพบกับโครงข่ายหลักสายสีแดงที่จุดโรงพยาบาลนครพิงค์  และต่อไปยังโครงข่ายหลักสายสีเขียวที่จุดแยกรวมโชค ก่อนจะไปสิ้นสุดที่แยกแม่คาวสะอาดใส
  2. สายสีเขียวเข้ม   เริ่มจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้ามาพบกับโครงข่ายหลักสายสีเขียวที่จุดแยกรวมโชค
  3. สายสีส้ม   เริ่มจากอำเภอสันทราย เข้ามาพบกับโครงข่ายรองสายสีชมพูที่แยกแม่คาวสะอาดใส และวิ่งต่อไปพบกับโครงข่ายหลักสายสีน้ำเงินที่จุดแยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา)
  4. สายสีเทา   เริ่มต้นจากอำเภอดอยสะเก็ด เข้ามาพบกับโครงข่ายรองสายสีส้มที่จุดแยกแม่คาวสะอาดใส และวิ่งต่อไปพบกับโครงข่ายหลักสายสีเขียวที่จุดห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล
  5. สายสีบานเย็น   เริ่มต้นจากปลายทางอำเภอสารภี เข้ามาพบกับสถานีโครงข่ายเสริมสายสีม่วง และไปสิ้นสุดปลายทางที่จุดเชื่อมกับโครงข่ายรองสายสีเหลือง ที่แยกหนองหอย
  6. สายสีฟ้า   เริ่มต้นจากอำเภอสันกำแพง เข้ามาพบกับโครงข่ายรองสายสีส้ม ที่แยกบวกครกศิวิไล และวิ่งต่อไปพบกับโครงข่ายหลักสายสีน้ำเงินที่แยกสันกำแพง (แยกโรงแรมปอยหลวงเก่า)
  7. สายสีม่วง   เริ่มต้นจากปลายทางอำเภอหางดง เข้ามาพบกับสถานีโครงข่ายหลักสายสีแดง ที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง) และวิ่งต่อไปพบกับโครงข่ายหลักสายสีน้ำเงินที่จุดแยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอเมนาดา)
  8. สายสีเหลือง   เป็นโครงข่ายเสริมที่จะวิ่งเชื่อมระหว่างโครงข่ายอื่นๆ
  9. สายสีขาวดำ   เป็นทางรถไฟชานเมือง ตามแนวรางรถไฟเดิม มาสิ้นสุดที่สถานีรถไฟเชียงใหม่

ภาพและข้อมูลจาก http://www.cm-pmap.com

คอมเมนต์